ทำความรู้จัก ปรีดี พนมยงค์ คือใคร ทำไมมีคนรออ่านจดหมายจำนวนมาก

ปรีดี พนมยงค์ คือใคร เปิดทำความรู้จักชีวประวัติ มีความสำคัญและบทบาทอย่างไร ทำไมมีคนรออ่าน ‘จดหมายปรีดี’ จำนวนมากขนาดนี้?

วันที่ 6 มกราคม 2567 นับว่าใกล้เข้าไปอีกก้าวกับการเปิดอ่าน จดหมายปรีดี พนมยงค์ จดหมายที่ใครหลายคนรอมาอย่างยาวนานกว่า 60 ปี หลายคนมองว่าอาจเป็นจดหมายชิ้นสำคัญเกี่ยวกับการเมืองไทย ซึ่ง จดหมายปรีดี หรือ Dossier de Pridi Panomyong คือจดหมายของ “ปรีดี พนมยงค์” อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโสของไทย ที่เขาได้มอบไว้ให้กับรัฐบางฝรั่งเศส และถูกเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุกระทรวงต่างประเทศ โดยมีเวลาปิดผนึกยาวนานถึง 60 ปี และมีกำหนดการเปิดให้สาธารณชนเข้าถึงได้ ในปี 2024 จดหมายปรีดี ไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในหมวดเอกสารนักการทูตหรือจดหมายเหตุส่วนตัว แต่เป็นเอกสารที่เขียนและรวบรวมโดยสถานทูตฝรั่งเศสในประเทศไทย และส่งกลับมาที่กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสในปารีส เมื่อปี 1977 ซึ่งตามกฎหมายเกี่ยวกับจดหมายเหตุในขณะนั้น ระบุว่าหากเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับชีวิตส่วนตัว และ/หรือความมั่นคงของรัฐ จะถูกกำหนดให้เข้าถึงได้ในอีก 60 ปีข้างหน้านั่นเอง

ปรีดี พนมยงค์ คือใคร (1)

ปรีดี พนมยงค์ คือใคร?

นายปรีดี พนมยงค์ เกิดวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 (ค.ศ. 1900) ณ บ้านหน้าวัดพนมยงค์ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บุตรของ นายเสียง กับ นางลูกจันทน์ พนมยงค์

การศึกษาในประเทศไทย
(1) เริ่มศึกษาหนังสือไทยที่บ้านครูแสง ตำบลท่าวาสุกรี แล้วย้ายไปศึกษาต่อที่บ้านหลวงปราณีฯ (เปี่ยม) อำเภอท่าเรือ
(2) อ่านออกเขียนได้แล้วเข้าศึกษาที่โรงเรียนวัดรวก ซึ่งสมัยนั้นเป็นโรงเรียนรัฐบาลประจำอำเภอท่าเรือ สอบไล่ได้ชั้น 1 ประโยค 1 (ตามหลักสูตรกระทรวงธรรมการสมัยนั้น ที่จำแนกการศึกษาสามัญออกเป็น 3 ประโยค ๆ ละ 4 ชั้น ยังมิได้จำแนกเป็นข้อมูล, ประถม, มัธยม)
(3) ต่อมากระทรวงธรรมการจัดหลักสูตรใหม่ จำแนกเป็นชั้นมูล, ประถม, มัธยม จึงย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนวัดศาลาปูน อำเภอกรุงเก่า สอบไล่ได้ประถมบริบูรณ์ตามหลักสูตรใหม่แล้ว ย้ายไปศึกษาชั้นมัธยมเตรียมที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร แล้วย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนตัวอย่างมณทลกรุงเก่าจนสอบไล่ได้ได้ชั้นมัธยม 6 (ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดสำหรับหัวเมือง) แล้วไปศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบอีก 6 เดือน จึงลาออกเพื่อกลับไปช่วยบิดาทำนา ซึ่งได้รับความรู้ทางปฎิบัติเป็นอันมากจากชาวนา
(4) ใน พ.ศ. 2460 เข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม และศึกษาภาษาฝรั่งเศสที่เนติบัณฑิตยสภา โดยอาจารย์เลเดแกร์ (E.LADEKER) ที่ปรึกษาศาลต่างประเทศเป็นผู้สอน
(5) พ.ศ. 2462 สอบไล่วิชากฎหมายชันเนติบัณฑิตได้ แต่ตามข้อบังคับสมัยนั้นยังเป็นเนติบัณฑิตไม่ได้เพราะมีอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ต้องรอจนถึงมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ใน พ.ศ. 2463 จึงได้เป็นสมาชิกสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภา
การศึกษาในประเทศฝรั่งเศส
(1) สิงหาคม พ.ศ. 2463 ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงยุติธรรมให้ทุนไปศึกษาวิชากฎหมาย ณ ประเทศฝรั่งเศส
(2) ศึกษาภาษาฝรั่งเศสและความรู้ทั่วไปที่วิทยาลัย (Lycee) กอง (Caen) และศึกษาพิเศษจากอาจารย์เลอบอนนัวส์ (LEBONNOIS) ซึ่งเป็นเลขาธิการสถาบันคุรุศาสตร์ระหว่างประเทศ (Institut Pedagogique International)
(3) ศึกษากฎหมายที่วิทยาลัยกอง (Caen) สอบไล่ได้ปริญญารัฐเป็น “บาเชอลิเอร์” กฎหมาย (Bachelier en Droit) และสอบไล่ได้ปริญญารัฐเป็น “ลิซองซิเอ” (Licencie en Droit)
(4) ศึกษาต่อที่วิทยาลัยปารีส สอบไล่ได้ปริญญารัฐเป็น “ดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย” (Docteur en Droit) ฝ่ายนิติศาสตร์ (Sciences Juridiques) และสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงในทางเศรษฐกิจ (Diplome d’Etudes Superieures d’Economie Politique)
กิจกรรมพิเศษในระหว่างศึกษาในฝรั่งเศส
(1) เมื่อ พ.ศ. 2466 – 2467 (ค.ศ. 1924 – 1925) ร่วมกับนักเรียนไทยในฝรั่งเศสกับสวิสเซอร์แลนด์และนักเรียนไทยในประเทศอื่นส่วนที่ขึ้นต่อสถานทูตสยามกรุงปารีส ตั้งเป็นสมาคมอันหนึ่งอันเดียวกันเรียกชื่อว่า “สามัคยานุเคราะห์สมาคม” อักษรย่อ “ส.ย.า.ม.” เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “Association Siamoise d’intellectualite et d’ Assistance Mutuelle” อักษรย่อ “S.I.A.M.”
(2) ได้รับเลือกตั้งเป็นเลขาธิการสมาคมคนแรก แล้วใน พ.ศ .2468 (ค.ศ. 1925) ได้รับเลือกตั้งเป็นสภานายกสมาคม และใน พ.ศ. 2469 (ค.ศ. 1926) ได้รับเลือกตั้งเป็นสภานายกสมาคมอีกครั้งหนึ่ง
(3) ริเริ่มที่จะแปลงสมาคมฯ ให้เป็นสหภาพแรงงานและการต่อสู้ท่านอัครราชทูตสยามสมัยนั้นซึ่งเป็นตัวแทนระบบสมบูรณาฯ

ปรีดี ร่วมกับเพื่อนอีก 6 คน ประชุมครั้งแรกก่อตั้งคณะราษฎรที่กรุงปารีสเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1927
ซึ่ง ปฏิทินไทยขณะนั้นยังเป็น พ.ศ. 2469 ปฏิทินไทยปัจจุบันเป็นปี พ.ศ. 2470 ผู้ที่เข้าร่วมประชุมครั้งแรกคือ 1.ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี (นายทหารกองหนุน) 2.ร.ท.แปลก ขีตตะสังขะ (จอมพล ป. นักศึกษาโรงเรียนนายทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศส) 3.ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี (นักศึกษาโรงเรียนนายทหารม้าฝรั่งเศส) 4.นายตั้ว ลพานุกรม (เดิมศึกษาในเยอรมันนีสมัยพระเจ้าไคเซอร์วิลเลี่ยมที่ 2 ต่อมาเมื่อสยามประกาศสงครามกับเยอรมัน นายตั้วฯ ถูกรัฐบาลเยอรมันจับเป็นเชลยศึก ต่อมาเยอรมันทำสัญญาหยุดยิง (Armistice) กับสัมพันธมิตร นายตั้วฯ ได้รับการปลดปล่อยตัวแล้วเดินทางมาฝรั่งเศสสมัครเป็นทหารอาสาไทย ได้รับยศเป็นจ่านายสิบ เสร็จสงครามแล้วไปศึกษาปริญาเอกทางวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยในสวิตเซอร์แลนด์) 5.หลวงสิริราชไมตรี นามเดิม จรูญ สิงหเสนี (อดีตนายสิบตรีกองทหารอาสาสงครามดลกครั้งที่ 1) ผู้ช่วยสถานทูตสยามประจำกรุงปารีส 6.นายแนบ พหลโยธิน (เนติบัณฑิตอังกฤษ หลานอาว์พระยาพหลพลหยุหเสนา- พจน์) และ 7.นายปรีดี พนมยงค์
หน้าที่ราชการก่อนอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน
(1) ผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรม
-ฝึกหัดอัยการศาลต่างประเทศและศาลคดีต่างประเทศเป็นเวลา 6 เดือน
-ทำบันทึกกระทงแถลงสำนวนคดีฎีกาประจำศาลฎีกาเป็นเวลา 6 เดือน
(2) เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย
(3) ผู้สอน ณ โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม
-ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 3 ตอนว่าด้วย “ห้างหุ้นส่วน, บริษัท, สมาคม”
-กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
-ผู้สอนคนแรกวิชา “กฎหมายปกครอง” (Administratif)
กิจกรรมพิเศษก่อนการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน
(1) อาศัยการสอนที่โรงเรียนกฎหมายฯ ปลุกจิตสำนึกนักศึกษาให้สนใจเป็นขั้นๆ ไป ถึงความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ เป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินประชาธิปไตย
(2) เปิดการอบรมทบทวนวิชากฎหมายที่บ้านถนนสีลมโดยไม่คิดค่าสอนแก่นักเรียนกฎหมาย เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์กับนักเรียนฯ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จึงมีนักเรียนกฎหมายหลายคนเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะราษฎรประเภท ดี 1. และเป็นผู้สนับสนุนคณะราษฎรประเภท ดี 2. และ ดี 3.

“ปรีดี ร่วมกับสมาชิกคณะราษฎรที่เป็นทหารบก, ทหารเรือ และพลเรือน ทำการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475”
หน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารตั้งแต่ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราวฉบับ 27 มิถุนายน 2475
(1) ได้รับแต่งตั้งจากผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 28 มิถุนายน 2475
(2) ได้รับแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นเลขาธิการ (คนแรก) ของสภาฯ นั้น
(3) ได้รับแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นอนุกรรมการคนหนึ่งในจำนวน 9 คน มีหน้าที่ร่างธรรมนูญปกครองแผ่นดินถาวรซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อว่า “รัฐธรรมนูญ” โดยร่วมมือกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น สภาฯ ได้ลงมติเห็นชอบด้วยแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศเป็น รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475
(4) ได้รับเลือกตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็น “กรรมการราษฎร” คนหนึ่งในจำนวน 15 คน ซึ่งทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินร่วมกับ “เสนาบดี” พระยามโนปกรณ์ฯ เป็น “ประธานคณะกรรมการราษฎร” ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 แล้ว คณะกรรมการราษฎรและเสนาบดีได้เลิกไปโดยมี “คณะรัฐมนตรี” ขึ้นแทน ปรีดี ได้รับแต่งตั้งเป็น “รัฐมนตรี” ประเภทไม่ดำรงกระทรวงใดที่เรียกกันว่า “รัฐมนตรีลอย” พระยามโนปกรณ์ฯ เป็นนายกรัฐมนตรี
เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ
เสียงเรียกร้องจากราษฎรและผู้แทนราษฎรให้รัฐบาลกำหนดโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติตามที่แถลงต่อราษฎรไว้โดยประกาศของคณะราษฎรฉบับ 24 มิถุนายน 2475 รัฐบาลจึงมีมติมอบหมายให้ปรีดีฯ เป็นผู้ร่างโครงการเศรษฐกิจเสนอรัฐบาล

ปรีดีฯ เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจต่อรัฐบาล รัฐบาลตั้งอนุกรรมการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้น อนุกรรมการส่วนข้างมากเห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจฯ ที่นายปรีดีฯ เสนอ แต่อนุกรรมการส่วนข้างน้อย อาทิ พระยามโนฯ, พระยาศรีวิศาลฯ, พระยาทรงสุรเดช, นายประยูร ภมรมนตรี ไม่เห็นด้วย ครั้นแล้วคณะอนุกรรมการฯ นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีส่วนมากไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้น แต่รัฐมนตรีส่วนน้อยเห็นด้วยกับเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้น ปรีดีฯ จึงแถลงต่อคณะที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า เมื่อปรีดีเป็นฝ่ายที่มีเสียงข้างน้อยในคณะรัฐมนตรี ปรีดีฯ ก็ขอลาออกจากคณะรัฐมนตรีตามวิถีทางประชาธิปไตย โดยจะนำเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้นเสนอต่อราษฎรในการเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ 1 ซึ่งปรีดีฯ จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร
รัฐบาลพระยามโนฯ ปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา, พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์, เนรเทศนายปรีดีฯ
แต่รัฐบาลมิได้ปฎิบัติตามวิถีทางประชาธิปไตยที่จะให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ตามธรรมนูญ หากรัฐบาลใช้วิธีเผด็จการคือ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2476 รัฐมนตรีส่วนหนึ่งภายใต้การนำของพระยามโนฯ ได้นำความกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ให้ลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกา “ปิดสภาผู้แทนราษฎร” และ “‘งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา” คือ คณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหารมีอำนาจในการบัญญัติกฎหมาย

พร้อมกันนั้นรัฐบาลก็ได้ออกกฎหมายที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ 2476” และออกแถลงการณ์ปรีดีฯ ว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” และบังคับให้ปรีดีฯ กับภรรยาต้องเดินทางออกจากประเทศไทยไปอาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส
การอภิวัฒน์ 20 มิถุนายน 2476
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เป็นหัวหน้านำทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน ยึดอำนาจการปกครองประเทศและนำความกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ถึงความประสงค์ที่จะให้เปิดสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมกัน 26 คน ได้ยื่นคำร้องขอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรให้นำความกราบบังคมทูลเรียกประชุมวิสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ ประธานสภาฯ จึงได้นำความกราบบังคมทูล ครั้นแล้วพระมหากษัตริย์ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดประชุมสภาฯ ได้ ตั้งแต่วันที่ 21 เดือนเดียวกันนั้น และโปรดเกล้าฯ ให้ใช้รัฐธรรมนูญบับ 10 ธันวาคมต่อไป ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่แทนรัฐบาลพระยามโนฯ ที่ลาออกไป
ปรีดีฯ กลับสู่สยาม
หนังสือพิมพ์หลายฉบับถามพระยาพหลฯ ว่าทางการจะให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี) เดินทางกลับสยามหรือไม่ พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีตอบว่าได้ติดต่อกับหลวงประดิษฐ์ฯ ให้เดินทางกลับแล้ว ได้รับตอบว่ายินดีกลับสยาม แต่ขอให้รัฐบาลนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาเสียก่อน นายกรัฐมนตรีจึงนำความกราบบังคมทูลและโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้หลวงประดิษฐ์ฯ เป็นรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2476 หลวงประดิษฐ์ฯ จึงเดินทางกลับสยาม
เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2476 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
(1) ปรีดีได้ปฎิบัติการเพื่อให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่นและท้องที่คือ
-ได้ตั้งเทศบาลทั่วราชอาณาจักรสยามตาม พ.ร.บ.เทศบาล ซึ่งปรีดีเป็นผู้ร่างให้รัฐบาลพระยาพหลฯ เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้การปกครองท้องถิ่นเป็นไปตามระบบประชาธิปไตย
-ได้มีการกวดขันให้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนันตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่
(2) ได้จัดตั้งกรมโยธาเทศบาลเพื่อสอดคล้องกับการปกครองเทศบาลและสร้างทางท้องที่หลายจังหวัด
(3) ป้องกันและปราบปรามการประทุษร้ายระหว่างมนุษย์ด้วยกันให้ลดน้อยลงกว่าสมัยก่อน
(4) สร้างโรงพยาบาลหลายแห่งรวมทั้งจัดให้มีเรือพยาบาลตามลำน้ำโขงโดยใช้สลากกินแบ่งของท้องที่
(5) สร้างฝายและพนังหลายแห่งเพื่อช่วยชาวนาและเกษตรกร
(6) สร้างทัณฑนิคมเพื่อให้ผู้พ้นโทษแล้วมีที่ดินของตน
ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
เสนอรัฐบาลให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเพื่อให้เป็นตลาดวิชาอำนาวยการศึกษาวิชาการกฎหมาย วิชาเศรษฐกิจ และวิชาการอื่นๆ อันเกี่ยวกับธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อส่งเสริมให้ข้าราชการและประชาชนมีโอกาสศึกษาได้อย่างแพร่หลาย ซึ่งเป็นการเผยแพร่และปลูกฝังระบอบประชาธิปไตยให้รู้หน้าที่การปกครองบ้านเมืองในระบบนี้ รัฐบาลเห็นชอบด้วยจึงให้หลวงประดิษฐ์ (ปรีดี) เป็นผู้ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476 เพื่อเสนอสภาผู้แทนราษฎร สภาฯ เห็นชอบด้วยและอนุมัติให้เป็นกฎหมายได้เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2476 (ตามปฎิทินเดิม)

ครั้นแล้วรัฐบาลได้เสนอขอความเห็นชอบจากสภาฯ เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์แต่งตั้งให้ปรีดี เป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนั้น เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2477 ปรีดีดำรงตำแหน่งนี้เป็นเวลา 18 ปี จึงพ้นจากตำแหน่งนั้น เนื่องจากรัฐบาลที่สืบต่อจากคณะรัฐประหาร 2490 ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ขึ้นใหม่ในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2495 ยุบตำแหน่งผู้ประศาสน์การ

ในระว่างที่ปรีดีเป็นผู้ประศาสน์การนั้น ได้ปฎิบัติการเพื่อให้นักศึกษานิยมระบบประชาธิปไตย ดังที่นักศึกษาส่วนมากของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองทราบอยู่แล้ว

ปรีดี พนมยงค์ คือใคร (3)

เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อต้านเผด็จการและปฎิบัติการเพื่อให้ชาติไทยได้เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์กลับคืน
(1) ทางการทูตญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ ได้ติดต่อขอให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม จัดการให้ ปรีดี พนมยงค์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีคลังเพราะเป็นผู้นิยมสัมพันธมิตร แต่เนื่องจากยังมีราษฎรนิยมนายปรีดีอยู่มาก ฉะนั้นขอให้จัดการให้ปรีดีดำรงตำแหน่งสูงสุดที่มิใช่อำนาจทางการเมือง (หมายถึงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการฯ ในคณะผู้สำเร็จฯ ที่ว่างอยู่ 1 ตำแหน่ง) จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.อดุล อดุลเดชจรัส รองนายกรัฐมนตรีนำความแจ้งแก่นายปรีดี นายปรีดีจึงตกลงลาออกจากรัฐบาล วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 สภาผู้แทนราษฎรลงมติแต่งตั้งให้นายปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการฯ คนหนึ่ง ในตำแหน่งคณะผู้สำเร็จฯ ที่ว่างนั้น
(2) ปรีดีเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ฉบับ 10 ธันวาม 2475 นั้น พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจคัดค้านระบบเผด็จการและปฎิบัติการเพื่อให้ชาติไทยได้เอกราชอธิปไตยโดยสมบูรณ์ ฉะนั้นในการที่ปรีดีรับตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงเป็นหน้าที่ที่จะต้องปฎิบัติแทนองค์พระมหากษัตริย์ดังต่อไปนี้
ประกาศสันติภาพ
โทรเลข ร.ม.ต.ต่างประเทศอเมริกันถึงเอกอัครรัฐทูตอเมริกันประจำอังกฤษ
อัญเชิญ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล” เสด็จกลับสยามเพื่อทรงบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เอง
เมื่อได้ประกาศสันติภาพซึ่งถือว่าสถานสงครามสิ้นสุดแล้ว นายปรีดีฯ ผู้สำเร็จราชการจึงขออัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล (รัชกาลที่ ๘) เสด็จกลับสยามเพื่อทรงบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เอง ได้เสด็จกลับถึงพระนครเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๘๘
นายกรัฐมนตรีครั้งที่ ๑ เป็นเวลา ๒ เดือน ๑๐ วัน
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมขอร้องให้ปรีดีฯ เป็นนายกรัฐมนตรีในภาวะดับขัน จึงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ปรีดีฯ เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙

ครั้นถึงวันที่ ๓ มิถุนายนปีนั้น ภายหลังที่ได้เปิดการประชุมรัฐสภาประกอบด้วยพฤฒสภาและสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญฉบับพฤษภาคม ๒๔๘๙ แล้ว ปรีดีฯ ได้พิจารณาว่าแม้รัฐธรรมนูญมิได้มีบทบังคับว่าถ้ามีรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นเมื่อใด รัฐบาลก็ต้องลาออก แต่ปรีดีฯ เห็นว่าตามมารยาทนั้นรัฐบาลควรลาออกเพื่อเป็นแบบฉบับสำหรับรัฐบาลต่อไป ฉะนั้นปรีดีฯ จึงอาสาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อในหลวงจะได้ทรงพิจารณาแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ต่อไป รวมเวลาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ ๑ นี้ ๒ เดือน ๑๐ วัน
นายกรัฐมนตรีครั้งที่ ๒ เป็นเวลา ๒ วัน
วันที่ ๘ มิถุนายนปีนั้น ประธานรัฐสภานำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนันทมหิดลตามความเห็นชอบของสมาชิกพฤฒสภาและสภาผู้แทนว่า สมควรโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งปรีดีฯ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่ทันที่ ปรีดีฯ จะประกอบคณะรัฐมนตรีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ ก็เสด็จสวรรคตในวันที่ ๙ มิถุนายนปีนั้น ปรีดีฯ นายกรัฐมนตรีจึงขอเสนอความเห็นชอบต่อรัฐสภาให้อัญเชิญพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นทรงครองราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อไปรัฐสภาเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ เสร็จประชุมรัฐสภาแล้ว ปรีดีฯ ขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ รวมเวลาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ ๒ เพียง ๒ วัน
นายกรัฐมนตรีครั้งที่ ๓ เป็นเวลา ๒ เดือน ๑๐ วัน
เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายนปีนั้นประธานรัฐสภาด้วยความเห็นชอบของสมาชิกรัฐสภาส่วนมากได้เสนอคณะผู้สำเร็จราชการฯ ชั่วคราวให้แต่งตั้งปรีดีฯ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง (ครั้งที่ ๓) ครั้นถึงวันที่ ๒๐ สิงหาคมปีนั้น ปรีดีฯ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะเหตุได้ตรากตรำทำงานฉลองคุณประเทศชาติมาเป็นเวลาพอสมควรรู้สึกว่าอนามัยเสื่อมโทรมลง ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจของรัฐได้เต็มที่ รวมเวลาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ ๓ นี้ ๒ เดือน ๑๐ วัน
ปรีดี มีข้อกล่าวหาว่าสมคบการปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาล 8
ระหว่างที่ นายปรีดี ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศนั้น นายปรีดี ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า สมคบการปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ ๘ มีหลายคนต้องถูกประหารชีวิต ส่วน นายปรีดีฯ นั้น ได้ฟ้องผู้ใส่ร้ายต่อศาลยุติธรรมไทย จำเลยยอมประกาศขอขมา นายปรีดีฯ

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด

เนียนเลยนะ! โจรแสบแอบย่องขโมยทุเรียน สุดท้ายโดนจับได้ แกล้งสลบเฉย

ไม่รอด โจรแสบแอบย่องขโมยทุเรียนเกรดเอ สุดท้ายโดนจับได้ แกล้งสลบ ร้อนกู้ภัยหิ้วตัวส่งตำรวจ ก่อนสารภาพทำไปเพราะอยากกิน 

อลเวง! ตาร้องสื่อ ถูกกู้ภัยขโมยทอง 50 บาท กู้ภัยซัดกลับ ยันไม่ได้ขโมย

คุณตา ยันไม่ได้จะใส่ร้ายใคร แต่มีทองคำ 50 บาท จริง สงสัย มันหายไปไหน ด้านกู้ภัยซัดกลับ ไม่เคยแตะต้องทรัพย์สินมีค่า

เขินไม่ไหว! “ลิซ่า BLACKPINK” – “เฟรเดอริก” ออกงานสุดหรูด้วยกัน

โดนจับตามองอีกแล้ว! สำหรับสาว “ลิซ่า BLACKPINK” และ “เฟรเดอริก อาโนลด์” ที่ได้ไปร่วมงานสุดหรู TAG Heuer Formula 1 | Kith

เร่งล่าตัว สาวใหญ่เสื้อเหลืองสุดแสบ มอมยารูดทรัพย์คนขับรถตู้ ไปกว่าแสนบาท

โคตรแสบ! สาวใหญ่ตีเนียนชวนคนขับรถตู้คุย-กินเบียร์ ก่อนมอมยา พร้อมรูดทรัพย์ไปกว่า 1 แสนบาท ล่าสุดตำรวจเร่งตามล่าตัว หวันหนีไปปอยเปต

ฮอตเกินต้าน! อินฟลูฯ สาว นุ่งซีทรูบาง โชว์จริตแอ่นบั้นท้ายอย่างเด็ด

ไม่มีแผ่ว! อินฟลูเอนเซอร์สาวชื่อดัง สาดความฮอต นุ่งซีทรูบาง อวดหุ่นสับเกินต้าน โชว์จริตแอ่นบั้นท้ายอย่างเด็ด

รวบ! เยาวชน ขับรถขนยาบ้าแหกด่าน สุดท้ายไม่รอด ตามยึดได้ 5.6 ล้านเม็ด

ไม่รอด! ตำรวจสกัดจับ 2 เยาวชน หลังมีพิรุธขับรถแหกด่าน สุดท้ายโดนรวบ พบซุกยาบ้ากว่า 5.6 ล้านเม็ด เตรียมนำไปส่งต่อ
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า