4 มีนาคม “วันอ้วนโลก” World Obesity Day เพื่อให้ความอ้วนเป็น โรค และมีความมุ่งหวังที่จะหยุดการเพิ่มขึ้น แชร์ทริค! 7 วิธี ห่างไกลโรคอ้วน
4 มีนาคม วันอ้วนโลก (World Obesity Day) ถูกตั้งขึ้นโดย World Obesity Federation เพื่อให้ทุกคนตระหนักว่าความอ้วนเป็น “โรค” และมีความมุ่งหวังที่จะ “หยุดการเพิ่มขึ้น” ของ วิกฤตโรคอ้วน (Obesity Crisis) ทั่วโลกให้ได้ภายในปี 2025 วันนี้จึงมา แชร์ทริค! 7 วิธี ห่างไกลโรคอ้วน

5 เรื่องเกี่ยวกับโรคอ้วนที่ควรรู้
1.โรคอ้วนจัดเป็นโรคเรื้อรังเช่นเดียวกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือโรคความดันโลหิตสูง คือภาวะที่ร่างกายมีไขมันสะสมมากเกินไป จนส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ทำงานผิดปกติ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ปัญหาการเคลื่อนไหวของข้อต่อ ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง นำไปสู่โรคอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง เป็นต้น
2.น้ำหนักตัวอย่างเดียวบ่งบอกภาวะอ้วนไม่ได้ แท้จริงแล้ว BMI อาจไม่ใช่เครื่องมือที่แม่นยำมากนัก ในการประเมินภาวะอ้วน เพราะไม่สามารถประเมินองค์ประกอบของร่างกายได้ เช่น บุคคลที่มี BMI เท่ากัน อาจมีสัดส่วนกล้ามเนื้อและไขมันไม่เท่ากัน เช่น นักเพาะกายมีกล้ามเนื้อ มากกว่าคนที่ขาดการออกกำลังกาย ควรใช้เครื่องมืออื่นประกอบ อาทิ การวัดเส้นรอบเอว หรือการวัดองค์ประกอบร่างกายด้วยเครื่อง DEXA (Dual-Energy X-ray Absorptiometry) เพื่อประเมินสัดส่วนไขมันทั้งหมดของร่างกาย โดยในกลุ่มวัยกลางคน (อายุ 20-50 ปี) ผู้หญิงไม่ควรมีสัดส่วนไขมันเกิน 32% และผู้ชายไม่ควรเกิน 28%
3.โรคอ้วนไม่ใช่แค่การกินอาหารมากเกินไป ผู้คนมักเข้าใจว่า หากเรารับประทานอาหารในปริมาณมากจะทำให้เราน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ เพราะพลังงานแคลอรี่นั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณอาหาร แต่อย่าลืมว่าอาหารที่มีปริมาณเท่ากัน อาจให้พลังงานที่แตกต่างกัน
ดังนั้น การรับประทานอาหารเพื่อป้องกันและรักษาโรคอ้วน ไม่ใช่แค่เพียงการจำกัดปริมาณเท่านั้น แต่ต้อง คำนึงถึงคุณภาพในปริมาณที่เหมาะสม อาหารที่มีใยอาหาร หรือไฟเบอร์สูง เช่น ผัก ผลไม้ หรือธัญพืชไม่ขัดสี มักให้พลังงานน้อยกว่าอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง รวมถึงมีสารอาหารอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น วิตามิน แร่ธาตุ รวมไปถึงสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ เพื่อให้ร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ
4. ยิ่งอ้วนจะควบคุมการกินได้ยากยิ่งขึ้น โรคอ้วนเกิดจากความไม่สมดุลในการควบคุมความหิวและความอิ่มของร่างกาย ซึ่งถูกควบคุมด้วย ระบบประสาทและต่อมไร้ท่อ โดยต่อมไร้ท่อจะสร้างฮอร์โมนที่สามารถส่งสัญญาณไปยังสมอง เพื่อบอกว่าเราควรรับประทานอาหารต่อหรือไม่ โดยฮอร์โมนที่สำคัญคือ
- ฮอร์โมนเลปติน ทำให้ร่างกาย รู้สึกอิ่ม ซึ่งฮอร์โมนนี้ หลั่งจากเซลล์ไขมัน และจะหลั่งมากขึ้นตามจำนวนเซลล์ไขมันในร่างกาย หากเรานอนพักผ่อนไม่เพียงพอจะส่งผลให้การหลั่งฮอร์โมน เลปตินลดลง ความอยากรับประทานอาหารก็จะเพิ่ม มากขึ้น ซึ่งในผู้ที่เป็นโรคอ้วนจะมีภาวะดื้อต่อฮอร์โมนเลปติน
- ฮอร์โมน เกรลิน หรือฮอร์โมนกระตุ้นความหิว จะหลั่งมากในช่วงก่อนมื้ออาหาร และจะหลั่งลดลงเมื่อเริ่มรับประทานอาหาร ในผู้ที่เป็นโรคอ้วน การหลั่งของฮอร์โมนเกรลินจะมีความผิดปกติคือ แม้จะรับประทานอาหาร ไปแล้วแต่ระดับของฮอร์โมนเกรลิน ก็ไม่ลดลง ทำให้ความอยากอาหารไม่ลดลง
5.โรคอ้วนเป็นผลจากทั้งพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เพียงสาเหตุเดียวของการเกิดโรคอ้วน ปัจจัยที่สำคัญคือ พฤติกรรมการใช้ชีวิตอีกด้วย
7 แนวทางห่างไกลโรคอ้วน
1.เลือกอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยใน 1 จาน ควรประกอบด้วย ผัก 50% โปรตีนคุณภาพดี เช่น ปลา ถั่วและธัญพืช 25% และข้าวไม่ขัดสี 25%
2.หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงหรือบริโภคแต่น้อยโดยเฉพาะไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัว
3.หลีกเลี่ยงเบเกอรี่ และอาหารที่มีน้ำตาลสูง โดยเฉพาะ เครื่องดื่มบางชนิดมีส่วนผสมของ High Fructose Corn Syrup (HFCS) เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้ แยม ลูกกวาด คุกกี้ ไอศกรีม เป็นต้น
4.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรืออย่างน้อย 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์
5.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอย่างน้อย 8-9 ชั่วโมงทุกวันและควรเข้านอนก่อน 4 ทุ่ม
6.งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่
7.ผ่อนคลายความเครียด ด้วยการนั่งสมาธิ เดินจงกรม หรือทำกิจกรรมที่ทำให้สมองสงบได้พักผ่อน
หรือถ้าหากใครอยากหาตัวช่วยในการลดน้ำหนักโดยที่ไม่ต้องทานยา แนะนำเป็น อาหารเสริมโปรตีนจากพืช สามารถดื่มแทนมื้ออาหารได้เลย นอกจากจะได้โปรตีนจากพืชที่ทำให้อิ่มท้องแล้วยังได้รับไฟเบอร์ ช่วยเรื่องระบบขับถ่ายอีกด้วย แถมโปรตีนจากพืชนั้นไม่มีไขมัน ไม่มีคอเลสเตอรอล นอกจากจะอิ่มแล้วยังสุขภาพดีด้วย


แหล่งที่มา สสส
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY